6ข้อแนะนำก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม

Share this article

6ข้อแนะนำก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนมีความเสี่ยงแล้วจะลงทุนอะไรดี ธรรมดามีแต่ฝากเงินในธนาคารทั้งแบบออมทรัพย์ และ ประจำ แต่มีคนบอกว่าฝากเงินธนาคารไปนานๆจะขาดทุนเอา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ วันนี้วีโคจะมาพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวม สำหรับท่านๆที่เพิ่งเริ่มลงทุนกันดีกว่า

6 ข้อแนะนำก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม
6 ข้อแนะนำก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม

6ข้อแนะนำก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม

การลงทุนมีความเสี่ยง หมายความว่า หากอยากได้ผลตอบแทนมาก ก็จะมีความเสี่ยงมาก หรือ หากอยากได้ผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงในการขาดทุนก็มากตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

1. วัตถุประสงค์การลงทุน ( Investment objectives ) พิจารณาเงินลงทุน ดูเงินที่เราพร้อมจะลงทุนคือเมื่อเราเอาเงินไปลงทุนแล้ว เงินต้นที่มีอาจลด(ขาดทุน)หรือเพิ่ม(กำไร)ก็เป็นไปได้ รวมทั้ง ระยะเวลาในการลงทุน จะลงทุนได้นานเท่าไหร่ ถ้าสามารถบอกผลตอบแทนที่คาดหวังได้จะยิ่งดี ตัวอย่าง

ตัวอย่าง 1 นักลงทุนเอ มีเงินลงทุน 10 ล้านบาท เอาเงินมาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเก็บเงินระยะยาว ใช้หลังอายุ 60 ปี

ตัวอย่าง 2 นักลงทุนบี มีเงินลงทุน 1ล้านบาท เอาเงินมาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเป็นที่พักเงิน ก่อนนำเงินนี้ไปลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจขายออกซื้อเข้าโดยประมาณเดือนละ 3-4 ครั้ง

ตัวอย่าง 3 นักลงทุนซี ออมเงินโดยการซื้อกองทุนรวม แบบ DCA คือซื้อทุกเดือนเดือนละ 20,000 บาท ต่อเนื่องไป 10 ปี เพื่อเป็นการออมเงินระยะยาว

ตัวอย่าง 4 นักลงทุนดี มีเงินอยู่ 5แสนบาท วางแผนว่าจะซื้อบ้าน แต่ยังหาซื้อบ้านที่ต้องการไม่ได้ เงินที่มีอยู่ในธนาคาร ดอกเบี้ยน้อย เลยเอามาลงทุน เมื่อถึงเวลาก็ขายออกเพื่อนำไปดาวน์บ้านที่ต้องการ

ตัวอย่าง 5 นักลงทุนอี มีเงินลงทุนหุ้น 10 ล้านบาท แต่ลงทุนด้วยตัวเองขาดทุนไป 2 ล้านบาทแล้ว เลยมีแนวคิดเอาเงินมาลงทุนในกองทุนที่มีผู้จัดการมืออาชีพช่วยลงทุน โดยวางแผนว่าจะนำเงิน 2 ล้านบาทมาลงทุนในกองทุนรวม เป็นระยะเวลา 1 ปี

จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์การลงทุนต่างกัน เงินลงทุนต่างกัน ระยะเวลาลงทุนก็ต่างกันไป ข้อนี้จึงต้องตอบให้ได้ 3 ข้อคือ

  • จุดประสงค์การลงทุน
  • เงินลงทุน
  • ระยะเวลาการลงทุน

แต่จริงๆมีอีกข้อ คือผลตอบแทนที่คาดหวัง บางท่านมีตัวเลขในใจแต่สำหรับผู้เริ่มต้นอาจไม่รู้ว่าจะเท่าไหร่ดี ถ้ามีผลตอบแทนคาดหวังได้จะดี จะทำให้ตอนเลือกกองทุนง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุนในการกองทุนรวม และ รายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของกองทุนรวม

* ผลตอบแทนย้อนหลังไม่ได้เป็นตัวการรันตีผลตอบแทนในอนาคตเป็นเพียงแค่แนวทางในการพิจารณาเท่านั้น

2. ความสามารถในการรับความเสี่ยง ( Ability to take risk ) ก่อนการลงทุนในกองทุนรวมต้องทำแบบสอบถามเพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันออกไป ข้อนี้ท่านผู้อ่านต้องทำแล้วดูค่าความสามารถในการรับความเสี่ยงว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งกองทุนแต่ละกองจะมีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น

  • ความเสี่ยงในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี อาหาร การท่องเที่ยว การขนส่ง
  • ความเสี่ยงการลงทุนในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน เช่น ลงทุนในหุ้น 80% ลงทุนในพันธบัตร 20%
  • ความเสี่ยงการลงทุนในตราสารการเงินที่แตกต่างกัน พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารทุน ตราสารอนุพันธ์
  • ความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศ เช่น อเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น
  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และอื่นๆ

3. หาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการรับความเสี่ยง และ ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมให้สอดคล้องกัน ( Relation between ability to take risk and Mutual funds risk level ) จากนั้นศึกษาหากองทุนรวมที่จะลงทุนในภาพใหญ่ คัดกรองให้เหลือกองทุนที่สนใจอยากจะลงทุนให้เหลือสัก 3-5 กองทุน โดยมองภาพใหญ่ว่า จุดเด่นของกองทุน กองทุนนี้ลงทุนอะไร ผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอย่างไร ความเสี่ยงระดับไหน ใครคือผู้จัดการกองทุน กองทุนใหญ่แค่ไหน หน่วยลงทุนเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร หากขายแล้วจะได้เงินภายในกี่วัน มีค่ามาตรฐานกองทุนไหม และอื่นๆ

หากกองทุนรวมที่เราสนใจมีระดับความเสี่ยงสูงกว่าความสามารถรับความเสี่ยงที่เรารับได้ ก็สามารถลงทุนได้แต่ต้องทำความเข้าใจกองทุนรวมนั้นให้ดี โดยเฉพาะในส่วนของผลตอบแทนเพราะอาจจะขาดทุนได้มากกว่าที่เราคาด กำไรได้มากกว่าที่เราคิด ลองพิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลังในเบื้องต้น แต่ ผลตอบแทนย้อนหลังไม่ได้เป็นเครื่องการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ เพียงแต่ต้องยอมรับความเสี่ยงระดับของการขาดทุนที่มากกว่าได้เท่านั้นเอง

4. หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม ( Fund fact sheet ) อ่านหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมที่เราเลือกอย่างละเอียด เพื่อคัดกรองจากข้อดังกล่าว หากท่านผู้อ่านเลือกมา 3-5 กองทุน เมื่ออ่านหนังสือชี้ชวนแล้วอาจเหลือที่สนใจเพียง 1-3 กองทุน ทำให้ได้กองทุนที่เราต้องการจะลงทุนแล้ว

5. แบ่งอัตราส่วนในการลงทุนเพื่อการกระจายความเสี่ยง ( Diversified risk ) โดยพิจารณาจากผลตอบแทนที่คาดหวัง ความสามารถในการรับความเสี่ยง ระดับความเสี่ยงของแต่ละกองทุนรวมให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ในการลงทุน จากนั้นทำการแบ่งอัตราส่วนจากเงินลงทุนทั้งหมด ตัวอย่างเช่น กองทุนเอ 50% กองทุนบี 30% กองทุนซี 20% อัตราส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ลงทุนเป็นหลัก

6. ติดตามข่าวสารกองทุนและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ( Mutual fund news updated ) เพื่อศึกษาแนวโน้มตลาด อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ราคาจะขึ้นหรือจะลง ถ้ามีความจำเป็นจะได้ทำการซื้อขาย สับเปลี่ยนกองทุนได้อย่างทันท่วงที

การลงทุนในกองทุนรวมมีความเสี่ยง ซึ่งหมายความว่าท่านผู้อ่านอาจจะขาดทุนหรือกำไรจากการลงทุนนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจให้รอบคอบ ขอให้โชคดีในการลงทุนกองทุนรวมนะครับ

บทความเกี่ยวข้อง

 2,680 total views,  1 views today