ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ

Share this article

VEKOWORLD.COM | วีโคเวิลด์ดอทคอม

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

ร่างกายยิ่งเคลื่อนไหว ยิ่งแข็งแรง ในทางตรงกันข้าม จิตหวั่นไหว คือจิตที่อ่อนแอ แต่ถ้าเราสามารถกำหนดจิตให้นิ่งได้แล้ว จะยิ่งมีพลัง เหมือนการรวมจุดโฟกัสของแสง การรวมพลังของแสงเป็นจุดเดียว ทำให้ไฟติดได้ การทดลอง สามารถทดลองการรวมแสงไปที่จุดเดียว โดยการนำแว่นขยายรับแสงพระอาทิตย์แล้วส่องไปที่กระดาษ จะเห็นว่า ทำไปสักพักกระดาษจะติดไฟ การฝึกสมาธิ คือการฝึกให้จิตนิ่ง โฟกัส จดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องนึง หรือ การทำให้จิตสัมผัสกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าแต่ก่อนที่เคยเป็น

จากประสบการณ์ของวีโคพอจะสรุป ประโยชน์จากการฝึกสมาธิได้ โดยปกติจิตของคนเราจะแกว่ง คือไม่อยู่นิ่ง คิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ที ได้ทั้งวัน

  • บางคน คิดเสียใจ เจ็บปวดกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว คิดกลับไปกลับมา ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว หนังสือจิตวิทยา จึงสอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ
  • บางคนคิดกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คิดวนไปวนมา ว่าจะทำอย่างไรดี คิดไปทางลบก่อนมากมาย จนนอนไม่หลับ
  • บางคนคิดเรื่องที่แก้ไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยภายนอก เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ไม่สามารถปล่อยวางการคิดได้ ทำให้เป็นทุกข์อีก
  • บางคน คิดในแง่ลบ มองอะไรก็ร้ายไปหมด ทำให้วิตกกังวล จนไม่กล้าจะทำอะไร
  • บางคน อยากมี อยากเป็น อยากได้ ไม่จบสิ้น เปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่รู้จักคำว่าพอ ใจก็เป็นทุกข์
  • บางคนยึดติดกับสิ่งที่เคยมี เคยเป็น ในอดีต แต่ในปัจจุบันไม่มีแล้ว เช่น เคยรวยแต่ตอนนี้จน เคยเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ตอนนี้ไม่มี เคยเป็นคนมีตำแหน่งสูงแต่ตอนนี้ไม่มี เคยมีคนนับหน้าถือตาแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ยึดติดทำให้ไม่ปล่อยว่าง เมื่อรู้ตัวแล้วว่าไม่มีเหมือนก่อนจึงเป็นทุกข์

กระบวนการความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์มีมากมายหลายแบบ สิ่งที่สำคัญเราต้องมีจิตรับรู้กับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ อยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้มากสุด การฝึกสมาธิก็คือการกำหนดจิตให้นิ่ง จดจ่ออยู่ที่เรื่องใดเรื่องนึง โดยการฝึกสมาธิจะเป็นการกำหนดจดจ่อจิตของเราให้อยู่ที่ลมหายใจ เข้า ออก หยุดจิดให้นิ่งเพื่อทำให้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น อยู่กับสภาวะในปัจจุบันมากสุด

หากจะยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ คนที่ฝึกจิตมาดี จะตระหนักรับรู้มากกว่าคนปกติ เช่น คนที่รับประทานอาหารอยู่ ก็จะรู้ว่ากำลังรับประทานอาหารอยู่ ผู้อ่านคงสงสัยว่า ตอนเรารับประทานอาหารอยู่ เราก็รู้อยู่ว่ากำลังกินข้าว แต่ที่ผู้เขียนต้องการจะบอกว่า ทุกขณะจิตหรือไม่? โดยปกติคนเราจะคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ตลอดเวลา ตอนรับประทานอาหารก็คิดไปสัก 10 เรื่องเห็นจะได้ แตกต่างจากคนฝึกสมาธิมาดี จะคิดเหลือแค่ 3 เรื่อง ตัวเลขที่กล่าวมาเป็นตัวเลขสมมุติเพื่อให้เข้าใจ จะเห็นได้ว่าคนที่ฝึกสมาธิจิตจะโฟกัสมากกว่า จะเห็นขั้นตอนการรับประทานอาหารแบบสโลโมชั่น ช้าๆที่ละขั้น เพราะจิตตระหนักรับรู้มากกว่า แตกต่างจากคนที่ไม่ได้ฝึกจิต เพราะจะทราบว่าทานอาหารอยู่แต่ทำไปตามสัญชาตญาณ ใจก็คิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทานอาหารไป ข้าวก็อาจจะหก หรือ กัดโดนลิ้นตัวเอง เหตุเป็นเพราะจิตไม่นิ่ง คิดเรื่องต่างๆนานา ซึ่งพอสรุปได้หากเราฝึกสมาธิดีจะทำให้จิตเรานิ่ง มีใจจดจ่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคนทั่วไป

อีกตัวอย่างนึง หากเรากำลังขับรถอยู่แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น คนที่มีจิตนิ่งจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า เพราะจิตนิ่ง รับรู้กับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากกว่า คนที่จิตใจอ่อนไหว ตื่นตระหนกตกใจกลัวจนไม่มีสติ ทำให้อาจควบคุมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการฝึกสมาธิ คือทำให้จิตเรานิ่งและรับรู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งกว่าเดิม เหมือนเรามีเวลาสัมผัสกับเหตุการณ์ได้เชื่องช้ากว่าที่เคยเป็น คล้ายภาพสโลโมชั่น เคลื่อนไหวช้าๆแบบเป็นขั้นๆไป

อีกสักตัวอย่าง หากเราเปรียบเทียบสมองเราเป็นเหมือนตัวประมวลผล(CPU)ในคอมพิวเตอร์ กระบวนการคิดที่ไม่เป็นประโยชน์คือไวรัส(Virus) หากเวลาคอมพิวเตอร์ประมวลผลมีไวรัสมาขัดขวาง มาก่อกวน ก็จะทำให้การประมวลผลช้าลง การทำงานช้าลง ได้ผลลัพธ์ช้าลง แต่หากการฝึกสมาธิ คือตัวกำจัดไวรัส (Anti Virus) เรายิ่งกำจัดไวรัสออกไปมากเท่าไหร่ การประมวลผลก็ออกมาเร็วขึ้น ดีขึ้น ละเอียดขึ้น มีคุณภาพมากขึ้นตามลำดับไปด้วยนั้นเอง

จากประสบการณ์ของวีโค หากฝึกสมาธิมาได้ระดับนึง เราจะเห็นภาพเหตุการณ์ประจำวันของเรา เชื่องช้าลง ละเอียดขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น คล้ายภาพสโลโมชั่นเป็นขั้นๆไป เป็นเพราะจิตเราสัมผัสกับเหตุการณ์ปัจจุบันนานมากขึ้นในเวลาเท่าเดิม เพราะจิตเราหลุดไปคิดเรื่องอื่นน้อยลง ทำให้เราสามารถ ควบคุม การคิดการกระทำสิ่งต่างๆได้ดีมากยิ่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะสามารถกำหนดจิตให้คัดกรอง ตัดกระบวนการคิดที่ไม่มีประโยชน์ออกไปได้นั่นเอง

 

 3,063 total views,  1 views today